news-details

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 213 (1st August 2021) พบกับบทสัมภาษณ์ “ก้อง ปิยะ เศวตพิกุล” กับบทบาทผู้จัดซีรีส์ “นับสิบจะจูบ” และ “Golden Blood รักมันมหาศาล” ที่ดังไกลถึงจีน

มาพูดถึงจุดเริ่มต้นการทำงานของคุณก้องกันก่อน คุณก้องอยากมาทำงานทางด้านการแสดง ทำอีเวนต์ตั้งแต่สมัยเด็กเลยรึเปล่าคะ

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ สมัยเด็ก ๆ อยากเรียนสจ๊วต ไม่ได้อยากเป็นดารา อยากเป็นสจ๊วตได้เดินทางไปต่างประเทศเยอะ ๆ อยากทำงานด้านบริการ แต่พอเรียนไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้ถนัดและชอบภาษาอังกฤษเท่าไร พอมาถึงช่วงมัธยมปลายก็เริ่มอยากเปลี่ยนมาทำงานด้านวงการบันเทิง ตอนนั้นไม่ได้อยากเป็นดารานะ อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ชอบทำกิจกรรม งานบอล งานวันวิชาการ จัดงานโรงเรียนต่าง ๆ พอเข้ามหาวิทยาลัยเราก็เปลี่ยนมาเลือกคณะนิเทศศาสตร์ เริ่มอยากทำงานที่เกี่ยวกับงานเบื้องหลัง พอเข้ามาเรียนในคณะก็เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ Bangkok University ด้านการประชาสัมพันธ์ พอเข้าปี 2 ก็เริ่มทำกิจกรรมรับน้อง และเริ่มทำละครเวทีให้กับมหาวิทยาลัย แต่เราจะดูเรื่องเสื้อผ้า ไม่ได้ดูเกี่ยวกับการแสดง เป็น Costume ตอนนั้นก็ได้เจอเพื่อนนักแสดงอยากคุณท็อป ดาราณีนุช ที่เรียนที่นั่นด้วยกันก็ได้เจอกัน สนิทกัน แล้วก็เริ่มทำกิจกรรมมาด้วยกัน ตอนนั้นก็เริ่มชอบงานในวงการบันเทิง ชอบทำเสื้อผ้า ชอบทำ PR ทำการแสดงได้บ้างเมื่อตอนที่เราอยากเล่น แต่ไม่ได้คิดว่าจะมาเล่นจริงจัง พอใกล้เรียนจบก็ได้มาทำละครเวทีอย่างจริงจังกับ บริษัท แดส เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด DASS ENTERTAINMENT Co.Ltd ก็เป็นการทำละครเวทีครั้งแรกที่เป็นโรงละครเวทีขายบัตรจริงจัง ตอนนั้นเราก็ทำงานเป็นผู้จัดการประชาสัมพันธ์ ก็เริ่มทำงานด้านประชาสัมพันธ์เลย หลังจากนั้นก็เริ่มมาทำด้าน AR เรื่องแรกน่าจะชื่อ “กับดัก” แล้วก็ทำต่อมาถึง 5 ปีเลย ก็มีรายการทางช่อง 5 สมัยก่อน เรื่อง “สามคนอลเวง” เริ่มมาเล่นละครเวที แล้วก็ได้มาเล่นละครช่องต่าง ๆ

แล้วสมัยก่อนละครเวทีกับละครทีวีมีกลุ่มผู้ชมแตกต่างกันไหม

ก้อง ปิยะ : โอ้โห แตกต่างกันเยอะเลย สมัย 30 ปีที่แล้ว ละครทีวีมีแค่ช่อง 3 5 7 9 มีแค่ 4 ช่องเท่านั้นเอง สมัยก่อนจะมีแต่ละครยาว จะไม่มีประเภทซีรีส์ ก็เป็นละครปกติทั่วไป เราก็เล่นมาเยอะมากเล่นมาเกือบร้อยเรื่อง เล่นมาเรื่อย ๆ ประมาณ 5 ปี ก็ค่อย ๆ มาทำออแกไนซ์เซอร์ ทำอีเวนต์เอง ทำบริษัทเองที่ โซนิกซ์ ยูธ

ตอนนั้นทำไมคุณก้องถึงอยากออกมาทำธุรกิจเองคะ

ก้อง ปิยะ : เป็นจังหวะที่เราทำมาได้ 5 ปี แล้วเราอยากลองทำออแกไนซ์เซอร์ อยากลองดูสิว่าจะเป็นยังไง ก็เลยมารวมตัวกับกลุ่มเพื่อน ๆ เปิดบริษัท โซนิกซ์ ยูธ เป็นบริษัทที่ทำทางด้านออแกไนซ์เซอร์ อีเวนท์ต่าง ๆ พอทำมาได้สักพักนึงก็เริ่มทำรายการทีวี ทำละครของตัวเองด้วย ก็เลยทำควบคู่กันมา แยกบริษัทที่ทำละคร อย่างเช่นเรื่อง “ทองเอกหมอยาท่าโฉลง” ที่มาริโอ้เล่นเป็นพระเอก หรือเรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่หมากเล่นก็มาจากผลงานของบริษัทของเรา พอทำมาได้สักพักนึงตอนนี้ซีรีส์วายเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยลองหันมาทำซีรีส์วาย

ทำไมถึงเปลี่ยนจากบทบาทการเป็นนักแสดงสู่บทบาทการเป็นผู้จัด

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ ตอนนั้นทำอยู่สองทาง เราทำงานเบื้องหลัง เป็นผู้จัดทำงานอีเวนต์ให้กับลูกค้า พอเรามีเวลาว่างก็มาเล่นละครทีวี เป็นทั้งพิธีกรและนักแสดง ส่วนเบื้องหลังเราทำทั้งงานอีเวนต์และงานละครเลย ก็เลยทำควบคู่กันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเลย

กว่าจะมาถึงวันนี้ของ โซนิกซ์ พบเจอปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง และมีวิธีรับมือกับปัญหาต่าง ๆ อย่างไร

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ ก็เจอวิกฤติมาหลายรูปนะ ตั้งแต่น้ำท่วมกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์ไม่สงบต่าง ๆ ฟองสบู่แตก เงินเฟ้อ เราก็เจอมาตลอดเป็นระยะ แต่เราก็พยายามประคองมา รอดมาตลอด จนมาถึงปัจจุบันคือวิกฤติโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ที่เราเคยเจอมา เหมือนกับเราได้บททดสอบมาแล้วจากวิกฤติต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งวิกฤติโรคระบาดก็หนักมากสำหรับเรา เพราะเราเป็นบริษัทออแกไนซ์เซอร์ มีพนักงานอยู่ 40 กว่าคน พอโควิดมาปุ๊บเราก็จัดงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนมาทำงานออนไลน์ ต้องปรับตัวกับการทำงานออนไลน์ พอปรับตัวจากปีที่แล้ว ก็พอมีอีเวนต์ออนไลน์บ้าง แต่ตอนนี้โควิดเริ่มแพร่กระจายได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทุกคนหยุดชะงักหมด การใช้เงิน การตลาดก็น้อยลง เราก็เลยเจอปัญหาในส่วนงานอีเวนต์ในแง่นั้น ส่วนงานละครเราทำงานกับช่อง 3 เรารับจ้างผลิตกับช่อง 3 ในส่วนของซีรีส์วายที่เราทำก็เจออุปสรรค โดยเฉพาะในเรื่องของสปอนเซอร์ที่น้อยลง ก็จะยากกว่าวิกฤติอื่น ๆ ที่เคยเจอมา

เมื่อเทียบครั้งนี้กับช่วงฟองสบู่แตก ครั้งไหนหนักกว่ากัน

ก้อง ปิยะ : ตอนวิกฤติฟองสบู่เรามีพนักงานไม่ถึง 10 คนก็จะควบคุมดูแลง่าย เพราะเรือลำเล็ก แต่ตอนนี้เรือของเราลำใหญ่ขึ้น เพราะมีพนักงาน 40 กว่าคนที่อยู่ในบริษัทเรา ค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น ปัญหาก็หนักขึ้น

บริษัท โซนิกซ์ บูม 2013 จำกัด ปัจจุบันดำเนินธุรกิจอะไรบ้าง

ก้อง ปิยะ : บริษัท โซนิกซ์ บูม 2013 จำกัด จริง ๆ หลายคนจะสับสนบริษัทโซนิกซ์ บูม กับบริษัทโซนิกซ์ ยูธ ในส่วนของบริษัทโซนิกซ์ ยูธ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โซนิกซ์ ยูธ 1999” จะทำเกี่ยวกับด้านออแกไนซ์เซอร์ งานอีเวนต์ต่าง ๆ  ส่วน “บริษัท โซนิกซ์ บูม 2013” เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับละครทีวีให้ทางช่อง 3 อย่างเดียว แล้วก็จะมีอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า “ดีทุกวัน” เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับซีรีส์วาย และทำเฉพาะรายการทีวี

คุณก้องนิยามตัวเองว่าเป็นนักแสดงหรือโปรดิวเซอร์คะ

ก้อง ปิยะ : ตอนนี้ก้องทำงานด้านเบื้องหลังมากกว่านักแสดง เพราะว่าการเป็นนักแสดงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก พอเราไปเป็นนักแสดงเราก็เป็นห่วงงานเบื้องหลัง ห่วงบริษัทต่าง ๆ ของเรา จิตใจไม่สงบ เราไม่มีสมาธิในการเล่นละคร เพราะเราห่วงงานของเรา ตอนหลัง ๆ ก้องจะเป็นเบื้องหลังซะส่วนใหญ่ เบื้องหน้าจะเป็นแค่งานพิธีกรของบริษัท จะเล่นละครบ้างในเรื่องที่อยากเล่น ส่วนใหญ่จะหนักไปทางโปรดิวเซอร์ หรือการบริหารงานมากกว่าที่ทำอยู่ อย่าง “โซนิกซ์ บูม” ก้องเป็น MD ส่วน “โซนิกซ์ ยูธ” ก้องเป็นเพียงกรรมการบริหาร ส่วน “ดีทุกวัน” ก้องจะเป็นในส่วนของ MD ตอนนี้เราได้คิดเราได้ทำเอง เช่น เราอยากทำซีรีส์วาย เราก็ได้มาจอยกับพี่คิง สมจริง แบบนี้ ซึ่งเหมือนเป็นงานประติมากรรมที่เราได้ปั้นเอง จากเมื่อก่อนที่เราทำงานเหมือนเราเป็นดิน เป็นฐานให้เขาปั้น แต่มาตอนนี้เราเป็นเหมือนผู้คิดค้นด้านการปั้น ว่าเราจะปั้นมันยังไงแบบนี้ เราได้สร้างสรรค์ ได้คิดงานของเราเอง

การเป็นนักแสดง กับ การเป็นโปรดิวเซอร์ มีวิธีการคิดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ก้อง ปิยะ : การเป็นนักแสดง ทำให้เรารู้รายละเอียด รู้หน้าที่ของตัวเอง เช่น หน้าที่ของกองถ่ายว่าการเป็นนักแสดงที่ดี มีคุณภาพ มีวินัยเป็นยังไง เราได้รู้ถึงหน้าที่ของทีมงานต่าง ๆ ในกองถ่าย ทั้งผู้กำกับ ทีมไฟ ตากล้อง เหมือนเราได้รู้แต่ละฟันเฟืองในกองถ่าย พอมาเป็นโปรดิวเซอร์ เราก็เข้าใจในฟังเฟืองทุก ๆ ส่วน ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการทำงานเบื้องหลังในส่วนต่าง ๆ ได้ ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์สำหรับเรา ก้องได้ทำทั้งละครเวที ได้เล่นละคร ได้ทำออแกไนซ์เซอร์ อีเวนต์ ได้ทำอะไรมากมาย ก็ได้รู้ในทุก ๆ ส่วน เราก็สามารถปรับตัว พลิกแพลงงานต่าง ๆ ได้ เช่น งานอีเวนต์เมื่อต้องมาจัดเป็นอีเวนต์ออนไลน์ เราก็นำความรู้ตอนที่เราทำละครเวที ทำละคร ทำรายการเอามาผนวกกัน มาปรับใช้กับงานอีเวนต์ออนไลน์ งานก็ออกมาดี ก็มีประโยชน์ พอเรามาทำงานละคร เราก็รู้ว่านักแสดงต้องรับมือยังไง ทีมแสง ทีมไฟ ทีมกล้องต้องรับมือยังไง เราก็มีประสบการณ์รู้รายละเอียดมากขึ้น จริง ๆ สำหรับก้องการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดนะ ปัจจุบันยังคงเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง อย่างมาทำซีรีส์กับพี่คิง กับคุณบอส ก็ทำให้ได้รู้อีกแง่มุมใหม่ ๆ ของอีกแขนงหนึ่ง อนาคตก็ต้องมีสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในสาขาอื่นเพิ่มเติมอีก เราก็จะไม่ตัน ไม่หยุดอยู่กับที่ อนาคตถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเราต้องพยายามทำให้ได้

จากประสบการณ์ 30 กว่าปีในวงการบันเทิงของคุณก้อง มีเหตุการณ์ที่ทำให้คุณก้องรู้สึกท้อถอยบ้างไหม

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ ต้องบอกก่อนว่า ก้องเกิดมาในครอบครัวคนจีน คุณแม่เป็นชาวกวางตุ้ง แม่อยู่กวางเจา ส่วนพ่อเป็นฮกเกี้ยน ก้องเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน น่าจะเกือบ 100% ตอนเด็ก ๆ แม่สอนให้พูดภาษาจีนกวางตุ้ง ถ้ามีลูกหลานก็อยากให้เรียนภาษาจีน จะได้สื่อสารเป็นทั้งสองภาษา ซึ่งก้องเสียดายที่ไม่ได้เรียนด้านภาษาจีนต่อ สื่อสารภาษาจีนไม่ได้ ทำงานในวงการมา 30 กว่าปี แต่จุดที่ก้องเกิดความรู้สึกท้อถอยคือช่วงเปิด บริษัท โซนิกซ์ ยูธ 5 ปีแรก ก้องได้ทำงานของครีมอาบน้ำยี่ห้อดัง ได้ทำงานกับคุณลูกเกด กิ่งโพยม กำลังดังมาก เป็นงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้าครีมอาบน้ำยี่ห้อดัง ต้องอาบกลางแจ้ง เขาก็อาบน้ำใส่ชุดอาบน้ำสีเนื้อในตู้กระจกฝ้า ตอนนั้นถูกคนต่อว่าเยอะมาก แต่ทางเมืองนอกเขาชื่อชมนะ แต่เมืองไทยมีวัฒนธรรมละเอียดอ่อน ซึ่งตอนนั้นภาพออกมาดูเหมือนโป๊เพราะชุดอาบน้ำเป็นสีเนื้อ ตอนนั้นทำให้ก้องโดนคนด่าว่า แล้วก็มีปัญหา ต้องเข้าไปพบตำรวจด้วย ซึ่งเรารู้สึกเซ็งมากไม่อยากไปแล้ว เบื่อเหลือเกิน เราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเลยนะ หลังจากที่เจอเหตุการณ์นั้น เราลองมองอีกมุม ก็เปิดประตูบานใหม่ให้กับเรา ได้คิดใหม่ ทำใหม่ ได้รู้ว่าบริษัทเราขายไอเดียความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น เกี่ยวกับเอนเตอร์เทนเมนต์ ไอเดียเราแตกต่าง นี่คือจุดแข็งที่ทำให้มี โซนิกซ์ ยูธ มาถึง 24 ปี

โซนิกซ์ ยูธ มีจุดแข็งในด้านไอเดียใช่ไหมคะ

ก้อง ปิยะ : ต้องบอกก่อนว่า ก้องคนเดียวไม่สามารถทำได้ ก้องมีทีมงาน ทีมครีเอทีฟ ทีมโปรดักชั่น ทีมโปรดิวเซอร์ที่น่ารัก ทุกคนมีไอเดียความคิดที่มาเติมเต็มให้เราสามารถทำงานของลูกค้าออกมาได้ดี เพราะฉะนั้นก้องจะบอกว่าก้องรักลูกน้องของก้องทุกคน เวลาก้องทำงานก้องจะให้เกียรติเขาว่าเขาเป็นคนทำคนคิดไอเดีย เขาจะเป็นคนนำไอเดียมาเสนอเรา เราก็คิดว่าอันนี้สามารถทำได้ไหม เหมาะสมในแง่ของโปรดักชั่นรึเปล่า และเหมาะสมกับสังคมไม่ผิดต่อประเพณีวัฒนธรรม ดังนั้นการทำอีเวนต์ไม่ใช่แค่คิดแต่สิ่งแปลกใหม่อย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในกรอบประเพณีวัฒนธรรม เฉกเช่นการทำละคร ถ้าเรานำเสนอสิ่งที่คิดดูจะได้อะไร หรือทำให้สังคมดีขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำให้สังคมดีขึ้นด้วย แม่เราสอนเรามาตั้งแต่เด็กเรื่องการทำเพื่อสังคม เราก็อยากทำผลงานที่ดีต่อสังคมให้สังคมดีขึ้น

ความยากง่ายในการทำ “ซีรีส์วาย” กับ “ละครไทย” แตกต่างกันยังไงบ้างคะ

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ แล้วต่างกัน อย่างละครที่ทำให้ช่อง 3 รูปแบบการนำเสนอก็แตกต่างกัน อย่างซีรีส์วาย Target Group ก็จะแตกต่างกัน ซีรีส์วายผู้ชมจะมีผู้ชมในวัยเด็ก วัยรุ่นค่อนข้างเยอะ ส่วนละครปกติ เช่นช่องสามก็จะเป็นกลุ่มคนดูทั่วไปที่มีอายุขึ้นมาหน่อย ก็จะต้องแบ่งวิธีการนำเสนอ เช่น คนนึงชอบก๊วยเตี๋ยวเนื้อ อีกคนชอบลูกชิ้นปลา บางคนจะชอบกินก๊วยเตี๋ยวเรือสุโขทัย ก็จะมีรสชาติแตกต่างกัน กรรมวิธีการทำก็แตกต่างกัน การถ่ายทำ การขยี้อารมณ์ เช่น ซีรีส์วายเราอยากขยี้อารมณ์ฉากนี้ เราต้องรู้ว่าจะขยี้ถึงแค่ไหนคนดูจะรู้สึกฟินไปด้วย ส่วนละครทั่วไปก็มีวิธีการขยี้อารมณ์ลงไปในฉากแตกต่างกัน ความฟินของคนดูแต่ละแบบไม่เหมือนกัน

แสดงว่าซีรีส์วายจะเน้นเรื่องซีนอารมณ์ใช่ไหมคะ

ก้อง ปิยะ : ซีรีส์วายเรื่องแรกที่ได้ทำกับพี่คิง พี่ชุแล้วก็คุณบอส คือเรื่อง “นับสิบจะจูบ” ตอนนั้นได้ซื้อเวลาออกอากาศทางช่อง 3 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำซีรีส์วายเลย อันนั้นมาจากนิยายวายเลย พอมาเรื่องนี้คือเรื่อง “Golden Blood รักมันมหาศาล” ก็จะไม่ได้มาจากนิยายแล้ว แต่มาจากพล็อตเรื่องที่พี่คิงเป็นคนแต่งขึ้นมาใหม่ แล้วก็ได้พี่ชุ ชุดาภามาช่วยคิดว่าจะเพิ่มเติมอะไรบ้าง ซึ่งแตกต่างจาก “นับสิบจะจูบ” ที่มาจากนิยายวาย โดยเรื่อง “Golden Blood รักมันมหาศาล” นี้คนดูจะไม่สามารถหาอ่านได้จากที่ไหน ซึ่งเหมือนการทำละครทั่วไป คิดว่าน่าจะเป็นซีรีส์วายเรื่องแรกที่คิดพล็อตขึ้นมาเอง น่าจะมีผลตอบรับที่ดี คนดูก็ให้ผลตอบรับที่ดี

พูดถึงมินิซีรีส์เรื่องล่าสุด “Golden Blood รักมันมหาศาล” กันบ้าง เห็นว่าเป็นการร่วมมือกัน ระหว่าง 3 บริษัทผู้จัดเลย ทั้ง “พี่คิง สมจริง ศรีสุภาพ” “พี่ก้อง ปิยะ เศวตพิกุล” “พี่ชุ ชุดาภา จันทรเขตต์” และ “บอส อนุสรณ์ ลิ้มประเสริฐ์” ความพิเศษของซีรีส์เรื่องนี้คืออะไรคะ ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร

ก้อง ปิยะ : พล็อตเรื่อง  “Golden Blood รักมันมหาศาล” พี่คิง สมจริงเป็นคนคิดขึ้นมาเองเลย ซึ่งตอนนั้นจุดเริ่มต้นคือเรามีเวลาอยู่ มีช่วงเวลาเหลืออีก 18 สัปดาห์ก็กำลังคิดว่าจะทำอะไรต่อดี จะทำซีรีส์วายเรื่องเดียว 18 ตอนเลยก็จะยาวเกินไป ฉะนั้นก็เลยทำเป็นมินิซีรีส์วายที่มี 2 เรื่องคือ 8 ตอน 1 เรื่อง แล้วก็ 10 ตอนอีกหนึ่งเรื่อง “Golden Blood รักมันมหาศาล” จะเป็นมินิซีรีส์เรื่องแรกมี 8 ตอน พอจบแล้วก็จะมีเรื่องที่คุณบอสกำลังดูแลอยู่อีก 10 ตอน แต่ละเรื่องจะมีคนดูแล “Golden Blood รักมันมหาศาล” พี่คิง สมจริงเป็นคนดูแล ส่วนอีกเรื่องคือ “ผมกับผีในห้อง Something in my room” บอส อนุสรณ์เป็นคนดูแล ซึ่งเป็นเรื่องราวย่อย ๆ ในมาแต่งเป็นพล็อต

ถือว่าใช้เวลาเร็วมากเลย ในการเตรียมการ ซีรีส์ถ่ายทำนานแค่ไหน

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ สองเรื่องนี้เตรียมการมาก่อน เรามีทีมงานหลายทีม ถ้าเรามีทีมงานเขียนบท ทีมงานเซอร์เวย์ ออกกอง น่าจะใช้เวลารวม ๆ ประมาณ 6 เดือนก็ได้บทที่เสร็จสมบูรณ์ เราจะคุยกัน 3 คน ก้อง พี่คิง คุณชุ ถ้าเราชอบพล็อตนี้ทั้ง 3 คนเราก็จะอนุมัติทำซีรีส์เลย ก็จะได้พล็อตได้บทเร็วขึ้น อย่างเรื่องนับสิบเราก็จะรู้แล้วว่าต้องทำอะไรต่อ ก็ได้ทำงานต่อเนื่องไปเลยจากบท

พูดถึงกระแสตอบรับจากซีรีส์ที่พี่ก้องเป็นผู้จัดกันบ้าง เห็นว่าตอนนี้ซีรีส์เรื่อง “นับสิบจะจูบ” และ “Golden Blood รักมันมหาศาล” ที่ดังไกลถึงจีนเลย เราคาดหวังมากแค่ไหนกับซีรีส์วายทั้งสองเรื่อง

ก้อง ปิยะ : ก็ต้องขอขอบคุณแฟนคลับชาวจีน แล้วก็จากทั่วโลกเลยที่ชื่นชอบซีรีส์ เราก็คาดหวังให้คนดูชอบ การทำละครหรือซีรีส์เราจะลุ้นทุกครั้งกับฟีดแบคจากคนดู ถึงแม้ว่าจะทำละครมาแล้วเป็น 10 ปี แต่ทุกครั้งที่เรามีละครออกใหม่เราจะลุ้น เหมือนกับเราส่งลูกเราเข้าไปเรียนหนังสือ ลูกเราได้แสดงความสามารถในโรงเรียน เราได้เห็นลูกเราอยู่บนเวที ทุกคนรักและชื่นชมลูกของเรา เราก็มีความสุข ฉะนั้นการทำงานทุกครั้ง ก้อง พี่คิง คุณชุจะตื่นเต้นทุกครั้ง และอยากจะทำผลงานออกมาดีที่สุดให้ทุกคนรัก และชอบ เรามีความสุขมากยิ่งกว่าได้กำไรอีก อย่างน้อยเราทำงานเราไม่ผิดหวังนะ พระเอกนายเอกที่เราสร้างมาได้รับการตอบรับ เราก็มีความสุข ซึ่งเรื่อง “Golden Blood รักมันมหาศาล” เราให้น้องโบ๊ท ธารา พระเอกช่อง 3 มาเล่นด้วย ถือว่าเป็นซีรีส์วายเรื่องแรกของเขาเลย ต้องพลิกบทบาทเลย

"โบ๊ท ธารา" จากบทพระเอกละคร มาเล่นเป็นพระเอกซีรีส์วาย เขาใช้เวลาตัดสินใจนานไหมกว่าจะมารับบทในซีรีส์วาย

ก้อง ปิยะ : ก้องคิดว่านักแสดงต้องแสดงได้ทุกบทบาท ก้องคิดว่าปัจจุบันนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้มองว่าการมาเล่นซีรีส์วายจะเป็นการเสียภาพลักษณ์ เพราะในปัจจุบัน ผู้ชมซีรีส์และละครสามารถแยกแยะได้ว่า นักแสดงมีความสามารถและแสดงได้สมจริงเป็นมืออาชีพนะ คนดูสมัยนี้ค่อนข้างใจกว้าง และยอมรับในฝีมือของนักแสดง ถ้าเขาแสดงได้ดีจริง ๆ

จุดเด่นของซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้ที่ทำให้โด่งดังไกลถึงจีนและทั่วโลกคืออะไร

ก้อง ปิยะ : ก้องว่าเป็นองค์ประกอบโดยรวม ทั้งนักแสดง ผู้กำกับ ทีมงานเราทั้งหมดทำงานอย่างเต็มที่มาก แล้วก้องก็กล้าพูดเลยว่าซีรีส์ “นับสิบจะจูบ” เนี่ยเราลงทุนทุกอย่างสูงมาก ลงทุนอย่างเต็มที่เกินอัตราศึกเลย จะเห็นว่าการถ่ายทำ โลเคชั่นต่าง ๆ การทำสี การทำงานด้านต่าง ๆ เราใส่รายละเอียดลงไปค่อนข้างเยอะ จะเห็นว่าเราเน้นคุณภาพของงาน ทั้งสีภาพ เสียงทุกอย่างคมชัด เราเน้นในเรื่องโปรดักชั่นมาก

พี่ก้องคิดว่าอะไรคือ จุดเด่น หรือ เสน่ห์ ของละครหรือซีรีส์ไทยที่ทำให้ครองใจผู้ชมทั้งเอเชีย รวมไปถึงประเทศจีนด้วย ซึ่งตอนนี้เป็นอันดับ 4 ของความนิยมในจีนแล้ว

ก้อง ปิยะ : คิดว่าไทยกับจีนเราเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน มีความคุ้นเคยในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณี สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน อย่างก้องเองก็มีเชื้อสายจีน เหมือนผูกพันกันมาตั้งแต่แรก พอคนจีนได้มาดูละคร ซีรีส์ไทยก็จะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกัน เหมือนญาติมิตรกัน อย่างละครไทยเราก็มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ของเราเอง ก้องว่าการทำบทละคร การนำเสนอเรื่องราวที่ค่อย ๆ ผูกมัดดึงอารมณ์ความรู้สึกคนดูให้ผูกพัน

ละครไทยพอเทียบกับต่างประเทศถือว่าใช้ลงทุนน้อยกว่า แต่กลับได้ใจคนดูได้ดี คิดว่าเป็นเพราะอะไรคะ

ก้อง ปิยะ : จริง ๆ ละครไทยจะมีบางเรื่องที่ลงทุนสูงเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะพยายามลงทุนแบบไม่ให้เสียชื่อ ให้ได้คุณภาพมากกว่า ก้องก็ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้แฟนละคร ซีรีส์ไทยได้ดูละครอย่างมีความสุข ก้องก็เริ่มเล่น Weibo เล่น Wechat ก็เช็คกระแสตลอด ตอนนี้คู่จิ้น CP อยู่อันดับนี้นะ อะไรแบบนี้ ก้องมีความสุขที่เขาชื่นชอบละคร ซีรีส์ของเรา

คิดว่าแฟนละครของจีนกับไทยต่างกันไหม

ก้อง ปิยะ : ก้องว่าเหมือนกันนะ มีความรักในตัวนักแสดง รักในละครซีรีส์เหมือนกัน ทุกคนรักและซัพพอร์ต ช่วยเหลือกัน ซึ่งก้องชอบมาก เพราะเวลาที่เราเห็นแฟนคลับหรือแฟนละครช่วยกัน เหมือนเราเห็นเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เหมือนลงเรือลำเดียวกัน ช่วยกันชื่นชม และผลักดันเราให้เราทำผลงานออกมาดีที่สุด เช่น ตอนที่ก้องทำงานกับน้องกลัฟ ก้องก็ได้เห็นแฟนคลับจีนมีส่งอาหารมาให้เราทาน คอยดูแล คอยช่วยโปรโมทข่าวต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นครอบครัว

ช่วงเวลา 30 กว่าปีที่อยู่ในวงการบันเทิงไทย คุณก้องคิดว่าอยากให้วงการบันเทิงไทยพัฒนาไปในจุดไหนบ้าง

ก้อง ปิยะ : ก้องอยากให้วงการละครไทยมีรูปแบบในการคิด และได้รับความนิยมมากขึ้นจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก อย่างละครเรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ก้องทำกับพี่ชุ ก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองของ Weibo ในตอนที่ออกอากาศ ก็รู้สึกว่าละครเราก็มีคนดูเยอะ อยากให้ละครไทยได้รับความนิยมทุก ๆ เรื่อง แล้วก็อยากให้ซีรีส์ไทยเป็นที่นิยม Worldwide มากขึ้น

คุณก้องคิดว่าเคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการทำงานวงการบันเทิงคืออะไร

ก้อง ปิยะ : จากที่ทำงานมาทั้งหมด เราต้องรักงานที่เราจะทำก่อน เพราะงานก็เหมือนลูกที่เราทำให้เขาเกิดขึ้นมา เราก็ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด สร้างผลงานให้ดีที่สุดให้คนดูเขารัก ถ้าเราจะทำสิ่งไหนอยากให้ทำออกมาให้ดีที่สุด อย่าคิดแค่เรื่องเงินทอง ถ้าเราทำดีแล้วแล้วเรารักเขา งานก็จะออกมาดี อันนี้สำคัญมาก แล้วก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมด้วย

คุณก้องมีเชื้อสายจีน และเติบโตกับครอบครัวชาวจีน คิดว่ามีวัฒนธรรมอะไรที่คุณก้องได้รับมาตั้งแต่เด็กและนำมาใช้จนถึงปัจจุบันไหม

ก้อง ปิยะ : มีหลายเรื่องเลย ก้องยังคงไหว้ตรุษจีนอยู่ ยังไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ อยู่ ยังนึกถึงและไหว้บรรพบุรุษอยู่ เช่น แม่สอนตอนเด็กว่าช่วงตรุษจีนจะไม่สระผม หรือเวลาที่คนว่าเรา ให้นั่งหน้าบ้านก่อนไม่ให้เข้าบ้านทันที เดี๋ยวจะนำสิ่งไม่ดีเข้ามาในบ้าน ช่วงที่กินข้าวก็อย่าเล่นตะเกียบนะ อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ยังติดต่อญาติที่เมืองจีนอยู่บ้าง อยู่ที่กวางเจาเป็นญาติทางคุณแม่ แต่พอคุณแม่เสียแล้วก้องก็ไม่ค่อยได้ติดต่อญาติทางจีนเพราะว่าพูดภาษาจีนไม่ได้ ก้องก็ชอบดูซีรีส์จีน ที่เกี่ยวกับพระราชวังต้องห้าม ดูแล้วก็อยากไปจีน ในเมืองที่เขาถ่ายทำเลย อยากไปดูมาก ๆ เลย ดูเสร็จก็โทรไปถามคุณปอย ตรีชฎา อยากไปดูอุตสาหกรรมของเขา การทำงานของเขา เราชอบ อีกเรื่องที่ดูก็คือจักรพรรดิเฉียนหลง ที่หมิงเยว่เล่น การตัดต่อกับการเขียนบทเก่งมาก ๆ ทั้งที่เรื่องยาวมากมีทั้งหมด 70 ตอนแต่อูแล้วหยุดไม่ได้จริง ๆ ต้องดูต่อเรื่อย ๆ การผูกเรื่องหรือการดำเนินเรื่องให้ดูต่อนี่คือเก่งมาก ๆ เลยจริง ๆ

คุณก้องมีข้อคิดอะไรจากคุณแม่ที่เป็นชาวจีนไหม

ก้อง ปิยะ : ข้อคิดที่แม่สอนก้องคือมักเปรียบการที่เราจะทำงานให้เหมือนการกิน เช่น กินน้อย ๆ กินนาน ๆ ดีกว่าการกินทีเดียวแล้วจบเลย ไม่ต้องรีบกิน เวลาทำงานอะไรก็แล้วแต่ให้ค่อย ๆ ทำ จะมามัวคิดเอากำไรปั่นหัวเขาทีเดียว ก็เลยเป็นหลักคิดในการทำงานของเรามาตลอดว่าถ้าเราทำงานเราจะไม่คิดเอากำไรลูกค้าจนปั่นหัวเขา เวลากินเรากินทีละน้อย ๆ แต่ได้กินนาน ๆ จะดีกว่า

สไตล์การใช้ชีวิตของคุณก้องเป็นยังไงบ้างคะ

ก้อง ปิยะ : ชีวิตเราตอนนี้ก็ปกติทั่วไป ไม่ได้อยากมีเงินมาก เอาแค่พอกินพอใช้ แล้วมีความสุข สุขภาพดีไม่ทุกข์ก็พอแล้ว

งานอดิเรกของคุณก้องล่ะ เวลาว่างทำอะไร

ก้อง ปิยะ : งานอดิเรกก็คือดูซีรีส์ (หัวเราะ) คือพูดตรง ๆ ว่าปัจจุบันนี้ไม่อยากจะรวยมหาศาล ขอแค่เราสุขภาพดีมีความสุขก็พอแล้ว

สุดท้ายนี้อยากให้พี่ก้องฝากอะไรสักเล็กน้อยถึงผู้อ่านชาวจีนหน่อยค่ะ

ก้อง ปิยะ : ก็อยากจะขอบคุณที่ติดตามดูซีรีส์ ละครที่เราร่วมกันทำขึ้นมา ขอบคุณการให้ความสนใจ การช่วยเหลือ ดูแล และให้การสนับสนุน ขอบคุณจริง ๆ สำหรับแฟนคลับชาวจีนทุก ๆ คน แล้วก็อยากจะบอกชาวจีนว่าถ้าสถานการณ์โควิดผ่านไปแล้ว เราก็อยากจะพานักแสดงไปเยี่ยมเยียนที่เมืองจีนบ้าง อยากไปสัมผัสบรรยากาศที่นั่น ได้ทานอาหารอร่อย ๆ ในจีน อยากไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ในจีน อยากไปทานติ่มซำแบบจีน รสชาติจีนแท้ ๆ ไปเที่ยวพระราชวังต้องห้ามแบบไปเที่ยวเองเลย อยากไปดูสถานที่ถ่ายทำเรื่อง Avartar อยากไปดูโชว์ในเมืองจีนที่ลงทุนมหาศาลจะได้ไอเดียมาทำงานของเราต่อไป

และด้วยกระแสการชมละครและซีรีส์วายที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความผูกพันของสายสัมพันธ์จีนไทย ในอนาคตอันไกล้เราจะมีโปรเจคใหม่ ๆ ต่อยอดจากละคร เพื่อให้เป็นของขวัญแก่แฟนคลับชาวจีนอย่างแน่นอน อีกอย่างตอนนี้เพิ่งได้เริ่มเล่น WEIBO ( ID : KONGPIYA ) อยากให้ทุกคนเข้าไปติดตาม เพื่ออัพเดทข่าวสารและผลงานที่จะผลิตออกมาอีกมากมายเพื่อแฟนคลับชาวจีนโดยเฉพาะด้วยนะ

 

ขอขอบคุณ

ก้อง ปิยะ เศวตพิกุล

Kong Piya Sawetpikul

 

IG : @kongpiya

 

Photographer : สมิทธิ ลีรพงษ์กุล @Smitti Lee

 

Graphic Designer : Satamed Kunawattana @Pdillustrator

Coordinator : Kawinna Penkul @kawintoon

Column Writer : Nathanich Srijumnong @myselfworth_

You can share this post!

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 214 (15th August 2021) พบกับบทสัมภาษณ์ “เล็ก ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา” Lek Damisa Ongsiriwattana เจ้าของ SOUR Bangkok บริษัทโปรดักชั่นชื่อดังของไทย

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 212 (15th July 2021) สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (Narumon Pinyosinwat) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน